มะเขือเทศ กินแล้วขาวจริงไหม ? และกินอย่างไรให้ประโยชน์สูงสุด
น้ำมะเขือเทศ เป็นเครื่องดื่มที่มีสรรพคุณหลากหลาย และมีสารอาหารสำคัญมากมาย โดยเฉพาะในเรื่องการบำรุงผิวพรรณ น้ำมะเขือเทศจึงกลายมาเป็นเครื่องดื่มที่คุณผู้หญิงทั้งหลายนิยมดื่มกันมาก
นอกจากการบำรุงผิวแล้วยังมีประโยชน์อย่างอื่นอีกมากมาย โดยมีสารสำคัญ คือ "ไลโคปีน (lycopene)" ที่มีมากในมะเขือเทศ ซึ่งเป็นสารชนิดหนึ่งที่ช่วยต่อต้านอนุมูลอิสระและจำเป็นในทุกช่วงอายุของคนเรา
วิธีรับประทานมะเขือเทศให้ได้ประโยชน์มากที่สุด
ส่วนมากวิธีรับประทานผัก หากต้องการให้ได้แร่ธาตุ และวิตามินครบถ้วน ก็มักจะต้องรับประทานแบบดิบๆ แต่การรับประทานมะเขือเทศเพื่อให้ได้ประโยชน์สูงสุด ต้องทำให้สุกเสียก่อน
เนื่องจากมะเขือเทศที่ผ่านความร้อนแล้วจะทำให้สารไลโคปีนกับเนื้อเยื่อของมะเขือเทศหลุดออกจากกันได้ง่าย ร่างกายจึงสามารถนำไปใช้ได้ดีกว่าแบบไม่ผ่านความร้อน อีกทั้งสารไลโคปีนนั้นสามารถละลายได้ดีในน้ำมัน
ดังนั้นหากเราใช้น้ำมันในการปรุงมะเขือเทศจะยิ่งทำให้ร่างกายดูดซึมไลโคปีนดียิ่งขึ้น แต่นั่นไม่ได้หมายความว่า การรับประทานมะเขือเทศแบบสดๆ แล้วจะไม่ดี เพราะในมะเขือเทศสดก็มีวิตามินซีสูงเช่นกัน หากต้องการวิตามินซีสูงเพื่อช่วยบำรุงทำให้ผิวพรรณดี ควรรับประทานสด
แต่ถ้าคุณต้องการให้ร่างกายได้รับสารไลโคปีนมากๆ ก็ควรรับประทานมะเขือเทศที่ผ่านความร้อนมาแล้วจะดีกว่า
นอกจากนี้ ผู้หญิงทุกคนยังควรรับประทานมะเขือเทศสด เพราะจะทำให้ได้รับวิตามินซี และใยอาหารมาก ส่วนผู้ชายควรรับประทานมะเขือเทศสุกเพื่อให้ร่างกายได้รับสารไลโคปีนมากๆ ก็จะช่วยป้องกันมะเร็งต่อมลูกหมากได้
สารอาหารและให้พลังงาน
สารอาหารในมะเขือเทศ 100 กรัม
- แคลอรี่ 18 กิโลแคลลอรี
- น้ำ 95%
- โปรตีน 0.9 กรัม
- คาโบไฮเดรต 3.9 กรัม
- น้ำตาล 2.6 กรัม
- เส้นใยอาหาร 1.2 กรัม
- ไขมัน 0.2 กรัม
ประโยชน์ของไลโคปีนในมะเขือเทศ
สารไลโคปีน (lycopene) เป็นสารในกลุ่มแคโรทีนอยด์ พบมากในผักผลไม้ที่มีสีส้ม สีแดง เช่น แครอท แตงโม มะละกอ ฟักข้าว เกรปฟรุต ซึ่งถือว่า เป็นสารแอนตี้ออกซิแดนท์ ที่สามารถป้องกันการเกิดโรคมะเร็งและช่วยชะลอความเสื่อมของเซลล์ได้อย่างดีเยี่ยม
มะเขือเทศสด 100 กรัม จะมีสารไลโคปีนประมาณ 0.9–9.30 มิลลิกรัม ซึ่งมีส่วนช่วยบำรุงสุขภาพ ดังนี้
-
การรับประทานไลโคปีนอย่างน้อย 30 มิลลิกรัมต่อวัน (เทียบเท่าซอสมะเขือเทศ 3 ช้อนโต๊ะ) จะช่วยป้องกันโรคมะเร็งลำไส้ เพราะในมะเขือเทศจะมีไฟเบอร์ และน้ำอยู่มากจึงช่วยในเรื่องระบบขับถ่ายให้เป็นไปอย่างปกติ
อีกทั้งยังช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดมะเร็งที่อวัยวะต่างๆ ที่ชัดเจนที่สุด คือ มะเร็งต่อมลูกหมาก รองลงมาคือ มะเร็งปอด มะเร็งกระเพาะอาหาร นอกจากนี้ยังมีส่วนช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรคมะเร็งรังไข่ มะเร็งเต้านม มะเร็งต่อมลูกหมาก และมะเร็งตับอ่อนได้อีกด้วย -
ชะลอความแก่ ลดริ้วรอยแห่งวัย บำรุงผิวพรรณให้สดใส ชุ่มชื้น เนื่องจากมีสารต้านอนุมูลอิสระ วิตามิซี วิตามินเอสูง แต่สำหรับผู้ที่มีริ้วรอยแล้วก็มีทางเลือกอื่นๆ
-
ช่วยบำรุงสายตา เพราะมีวิตามินเอสูง
-
วิตามินซีที่สูงในมะเขือเทศช่วยป้องกันโรคลักปิดลักเปิด และเลือดออกตามไรฟัน
-
ช่วยกำจัดไขมันเลว (Low-Density Lipoprotein: LDL) ทำให้ลดความเสี่ยงโรคหัวใจ และหลอดเลือด
-
ช่วยควบคุม และลดระดับน้ำตาลในเลือด สำหรับคนที่ไม่แน่ใจว่าระดับน้ำตาลในเลือดของตนเองผิดปกติหรือไม่ การตรวจสุขภาพอาจเป็นทางเลือกที่ดีสำหรับคุณ
-
ลดอาการบวมน้ำในร่างกาย ช่วยควบคุมสมดุลของเหลวในเซลล์ และเนื้อเยื่อ
-
ช่วยป้องกันโรคกระดูกพรุน เสริมสร้างกระดูกให้แข็งแรง
-
บำรุงผมให้แข็งแรงเงางามมีสุขภาพดี
-
โฟเลตช่วยบำรุงเลือดจากภาวะเลือดจางจากสาเหตุขาดโฟเลต โดยเฉพาะในมารดาขณะตั้งครรภ์การได้รับโฟเลตเพิ่มขึ้นจะช่วยป้องกันโอกาสเสี่ยงคลอดเด็กตัวเล็กก่อนกำหนด และป้องกันการเกิดทารกที่มีปัญหาหลอดประสาทไม่ปิด (neural tube defects)แต่กำเนิดได้
-
ตามตำรายาไทยระบุสรรพคุณว่า
-
ใบมะเขือเทศ ใช้รักษาหน้าเกรียมเนื่องจากถูกแดดเผา
-
ผล ใช้เป็นยาระบาย ช่วยให้เจริญอาหาร แก้กระหายน้ำ แก้ไฟไหม้น้ำร้อนลวก ช่วยย่อยอาหาร และใช้ฟอกเลือด
-
ราก ใช้รากสดมาต้มเอาน้ำดื่มเพื่อบรรเทาอาการปวดฟันได้
วิธีดื่มน้ำมะเขือเทศอย่างไรให้ถูกต้อง และมีประโยชน์
ถ้าอยากดื่มน้ำมะเขือเทศสดเพื่อให้ได้ประโยชน์มากสุดนั้น เราจำเป็นต้องกำหนดช่วงเวลาการดื่มเพื่อให้ร่างกายนำสารอาหารไปใช้งานได้ดีที่สุด สามารถแบ่งออกได้ 2 ช่วงเวลา ได้แก่
- ดื่มก่อนรับประทานอาหาร หรือในช่วงท้องว่าง อาจจะหยดน้ำมันใส่เล็กน้อยลงไปเพื่อให้ร่างกายดูดซึมได้ดีขึ้น
- ดื่มหลังอาหารในทันที เพราะไขมันในอาหารจะช่วยให้ร่างกายดูดซึมไลโคปีนได้ดีมากขึ้น
ผู้ที่ควรหลีกเลี่ยงการดื่มน้ำมะเขือเทศ
มะเขือเทศมีธาตุโพแทสเซียมสูงมาก ดังนั้นผู้ป่วยโรคไต หรือผู้มีโพแทสเซียมในเลือดสูง จึงไม่ควรรับประทานเลย ไม่ว่าจะแบบสด หรือปรุงสุก
เพราะร่างกายผู้ป่วยกลุ่มนี้จะไม่สามารถขับโพแทสเซียมออกได้ไม่หมด นอกจากนี้ ผู้ที่มีภาวะกรดไหลย้อนก็ไม่ควรรับประทานมะเขือเทศมากเกินไป เพราะจะยิ่งทำให้อาการแสบร้อนกลางอกหนักขึ้นได้
ควรดื่มน้ำมะเขือเทศเท่าไรจึงจะพอดี
ถ้าดื่มน้ำมะเขือเทศมากเกินไป ร่างกายจะได้รับวิตามินซีสูงเกินไปจนเกิดเป็นนิ่วได้ ส่วนการได้รับวิตามินเอมากเกินไป ก็อาจสะสมในร่างกายส่งผลให้เกิดอาการเบื่ออาหาร เจ็บกระดูก นอนไม่หลับ และท้องผูกได้
นอกจากนี้ การได้รับโพแทสเซียมปริมาณสูงอาจมีผลต่อการทำงานของหัวใจ ดังนั้นปริมาณการดื่มน้ำมะเขือเทศที่แนะนำต่อวันคือ ไม่ควรเกิน 2 แก้ว หรือ 2 กล่อง(เล็ก) ต่อวัน เพราะเป็นปริมาณที่ร่างกายสามารถขับโพแทสเซียมออกไปได้หมด
อย่างไรก็ตาม การดื่มน้ำมะเขือเทศแบบกล่องก็ยังต้องเลือกดื่มอย่างระมัดระวัง เพราะอาจมีการเติมโพแทสเซียมลงไป ดังนั้นควรดูตารางโภชนาการที่กล่องน้ำมะเขือเทศด้วย โดยควรเลือกชนิดที่มีโซเดียมต่ำ ไม่เช่นนั้นแล้วร่างกายอาจจะได้รับโซเดียมมากไป ทำให้เสี่ยงต่อการเป็นโรคอื่นๆ ได้อีก
นอกเหนือจากมะเขือเทศแล้ว คุณควรรับประทานอาหารประเภทอื่นให้ร่างกายได้รับสารอาหารครบ 5 หมู่ด้วย รวมถึงออกกำลังกายเป็นประจำอย่างน้อยสัปดาห์ละ 3 ครั้ง ครั้งละ 30 นาที เพื่อให้ลำไส้มีการเคลื่อนไหวมากขึ้นทำให้การขับถ่ายง่ายขึ้น และพักผ่อนให้เพียงพอ ร่างกายจะได้แข็งแรงยิ่งขึ้น